วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาหลัง

ดาหลัง

ดาหลัง เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทยจัดอยู่ในประเภทบทละครใน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องคือ รามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลัง และ อิเหนา โดย ดาหลัง และ อิเหนา นั้นมีต้นเค้ามาจากนิทานปันหยีของทางชวาเหมือนกัน แต่ความนิยมในดาหลังนั้นมีน้อยมาก อันจะสังเกตได้ว่าแทบไม่มีผู้ใดคิดจะหยิบมาอ่านหรือนำมาศึกษาอย่างจริงจังอาจเพราะด้วยเนื้อหานั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าอิเหนา ภาษานั้นไม่ไพเราะลื่นไหลน่าอ่านเท่ากับอิเหนาฉบับรัชกาลที่ 2 และเนื้อเรื่องที่ได้ตีพิมพ์ออกมานั้นไม่จบตอน ขาดในส่วนของตอนจบไป จึงไม่มีใครทราบว่าเรื่องดาหลังนั้นแท้จริงแล้วจบอย่างไร จากสาเหตุข้างต้นจึงน่าจะเป็นเหตุให้วรรณคดีเรื่องนี้ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

ผู้แต่ง

ดาหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิเหนาใหญ่ เป็นกลอนบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีเค้าเดิมมาจากนิทานชวา เชื่อกันว่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุทธยา หญิงเชลยชาวชวาปัตตานี ซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงแต่งเรื่องขึ้นคนละเรื่องคือ อิเหนาใหญ่ และ อิเหนาเล็ก แต่เรื่องทั้งสองสุญหายไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ทั้งอิเหนาใหญ่และอิเหนาเล็ก โดยอาสัยเค้าเรื่องเดิมสมัยอยุธยา[1]
พระราชนิพนธ์เรื่องดาหลังนี้ ผู้รู้ทางวรรณคดีเห็นกันว่าเป็นโวหารสมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งๆ ที่ไม่มีบานแผนก เป็นความนำในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลนั้นส่วนมาก แต่ความจริงการที่เรียกหนังสือใดๆ ว่าพระราชนิพนธ์นั้น สำหรับสมัยก่อนๆ ไม่ได้หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเอง หรือเขียนเองแต่ลำพังพระองค์ เยี่ยงนักเขียนในปัจจุบัน ซึ่งอย่างน้อยก็บอกให้คนอื่นเขียนตามคำบอกสมัยนั้นพระองค์ทรงเป็นประธานในการเรียบเรียง ทรงรวบรวมนักประพันธ์ กวี มาช่วยกันคิดแต่งติชมจนเป็นเรื่องขึ้น[2] ซึ่งส่วนมากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 นั้นจะใช้วิธีประชุมกวีเสียเป็นส่วนมากที่จะนิพนธ์ด้วยองค์เองตลอดเรื่อง ในเวลาที่ไทยเราตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งอิเหนาใหญ่ และ อิเหนาเล็กขึ้นควรจะเชื่อได้ว่าทั้งสองเรื่องนั้นสำนวนเดิมเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะการฟื้นฟูวรรณคดีก็ดี งานราชการบ้านเมืองก็ดี เป็นการฟื้นฟูตามแบบกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ท่านไม่น่าจะมีเวลามาคิดแต่งดาหลังขึ้นใหม่แน่[2]

ประวัติ

เรื่องดาหลัง นั้น เคยพบสำนวนเดียว คือบทละครดาหลัง สังเกตได้ว่าเทคนิคในทางจัดละครยังอ่อนมาก ดูคล้ายๆ รามเกียรติ์ สำนวนรัชกาลที่หนึ่ง ซึ่งมุ่งแต่จะบันทึกเรื่องไว้ให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนปลาย เรื่องดาหลังนี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกแต่ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ที่โรงพิมพ์นายเทพ เป็นสองเล่มกินความ 32 สมุดไทย สังเกตว่าเรื่อยังไม่จบ สมุดไทยดำซึ่งเป็นต้นฉบับของนานเทพก็ไม่ปรากฏว่าอยู่แห่งใดในเวลานี้[3] ในหอสมุดแห่งชาติพบดาหลังสมุดไทยดำ 39 เล่ม แต่ความน้อยกว่าฉบับพิมพ์ของนายเทพซึ่งพิมพ์จากสมุดไทย 32 เล่ม[3] ทางการของกรมศิลปากรบันทึกไว้ในหนังสือที่เขียนสมุดไทยนี้ว่า เป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เขียนเมื่อรัชกาลที่ 3 มีความเพียงท้าวกาหลังทรงทราบว่ามิสาประหมังกุหนิงหายไป ไต่ถามดูไม่ได้ความว่ามีเรื่องต่อไปอีกในหอสมุด [4]

เนื้อหา

เรื่องดาหลังเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ชวา พระราชนิพนธ์นี้เป็นกลอนบทละครมีหน้าพาทย์กำหนดดนตรีประจำบทไว้เสร็จ เนื้อเรื่องดังกล่าวถึงกาลก่อนในชวาประเทศ มีราชธานีอยู่สี่นคร คือกุเรปัน ดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวดาสี่พี่น้องครองนครละองค์ วงศ์เทวดานี้มีพระอัยกาธิราชเป็นต้นสกุล แต่สิ้นพระชนม์ไปแล้วจนมีฐานะเป็นเทวดา เรียกว่า ปะตาระกาหลา (ภัตตรกาล) และยังเวียนมาคุ้มครองโลก โดยเฉพาะวงศ์วานของท่าน เรื่องดำเนินไปว่าในจำพวกกษัตริย์ทั้งสี่นี้ ท้าวกุเรปันผู้พี่ใหญ่มีพระโอรสด้วยประไหมสุหรี (ปรไมยสวรียา) ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีนั้นก่อน ได้นามว่าอิเหนา ท้าวดาหาผู้รองลงมาในพระวงศ์ก็มีธิดาด้วยประไหมสุหรีดุจกันทรงพระนามว่า บุษบาก้าโละ
ท้าวกุเรปันทรงตุนาหงัน (หมั้น) พระธิดากรุงดาหาประทานแก่อิเหนาผู้เป็นโอรสแต่แรกประสูติมาแต่อิเหนาเมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ได้ไปพบหญิงงามชาวไร่ชื่อ เกนบุษบา และหลงรักนางจนไม่ใยดีต่อคู่หมั่น พระบิดาพากเพียรจะให้อิเหนาไปอภิเษกสมรส แต่อิเหนาบิดพริ้วจนพระบิดากริ้วแสนสาหัส ถึงให้ไปลอบฆ่านางเกนบุษบาเสีย อิเหนาเสียพระทัยอย่างที่สุดจนหลบหนีไปจากพระนครพร้อมด้วยรี้พล เดินทางไปโดยไม่มีจุดหมาย และปลอมพระองค์เป็นชาวป่าเรียกนามว่า ปันหยี ในการที่ออกเดินทางไปโดยอาการอย่างนี้เรียกว่า มะงุมมะงาหรา และได้ไปประสบเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งทุกข์ทั้งสุข ผ่านบ้านเมืองใดก็ท้าเขารบ รบแล้วก็ชนะ บ้างก็ยอมแพ้ แก่ปันหยียกบุตรธิดาถวายทั้งทรัพย์สมบัติ ไปๆ ก็ไปหลงกลของเจ้าเมืองมะงาดา ซึ่งพาไปเที่ยวเกาะแล้วให้ล่มเรือปันหยี ปันหยีถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งด้วยกันกับประสันตา ต้องอยู่อย่างยากจนลำบากโดยการหากินเป็นดาหลัง คือผู้เชิดหนัง ระหว่างนี้พระญาติวงศ์รวมทั้งพระธิดาบุษบาก้าโละก็ออกติดตามหา โดยต่างก็ปลอมองค์เป็นปันจุเหร็จ คือชาวป่าเที่ยวรบราฆ่าฟันไปทุกเมือง จนท้ายสุดเหล่าเจ้านายซึ่งปลอมพระองค์เป็นชาวป่าออกหาซึ่งกันและกันนั้น เผอิญไปพร้อมกันอยู่ที่กรุงกาหลัง และไปได้ความว่าใครเป็นใครที่กรุงนั้น ในที่สุดบรรดาคู่ตุนาหงัน (คู่หมั่น) ก็ได้อภิเษกซึ่งกันและกันโดยแนวที่ถูกต้องทุกประการ[5]

ไชยเชษฐ์

ไชยเชษฐ์

ไชยเชษฐ์ เป็น นิทานพื้นบ้าน สมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี มีผู้นำนิทานเรื่องนี้มาเล่นเป็นละครเพราะเป็นเรื่องสนุก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงนำนิทาน เรื่องไชยเชษฐ์มาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก เดิมละครนอกเป็นละครที่ราษฎรเล่นกัน ให้ผู้ชายแสดงเป็นตัวละครทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ เพื่อให้เป็นบทละครนอกของหลวง และทรงให้ผู้หญิงที่เป็นละครหลวงแสดงอย่างละครนอก ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดย บริษัท สามเศียร จำกัด และ บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัดเคยนำมาสร้างเป็นละครพื้นบ้านแนวจักรๆวงศ์ๆในชื่อ ไชยเชษฐ์ โดยละครเรื่องนี้ออกอากาศเมื่อ ปี 2527 บทโทรทัศน์ โดย เกล้าเกศ นำแสดงโดย สุริยา ชินพันธ์ ผุสรัตน์ ดารา ยุวนารี ธิดารัตน์ ชัย ราชพงษ์ วิไลลักษณ์ ไวงาน สมาน คัมภีร์ ต่อมาเมื่อปี 2555 สามเศียร ได้นำมาทำใหม่อีกครั้งนำแสดงโดย กิตติวงศ์ โพธิ์ปี ทิชา ตันติประสุต วิจิตรา ฉายสุวรรณ ตวงรัตน์ คะชะสะ ฑรัญภัค เศรษฐีธร นันทรัตน์ ชาวราษฏร์ ธนภัทร ดิษฐไชยวงศ์ กฤติยา ยอดครู ธัญธารีย์ โรจนเรืองไชย รัฐธรรมนูญ ศรีฤกษ์ พัชรมัย สุขประเสริฐ ปริษา ทนาวิวัฒน์ ศุภชัย เธียรอนันต น้ำทิพย์ เสียมทอง เลอสรรค์ คงเจริญ หนุ่ม มาวิน

เนื้อเรื่อง

"ท้าวอภัยนุราช" เจ้าเมืองเวสาลี มีพระธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่า "นางจำปาทอง" เพราะเมื่อนางร้องไห้จะมีดอกจำปาทองร่วงลงมา ครั้นนางจำปาทองเจริญวัยขึ้น นางได้นำไข่จระเข้จากสระในสวนมาฟักจนเป็นตัวและเลี้ยงจระเข้ไว้ในวัง ครั้นจระเข้เติบใหญ่ขึ้น ก็ดุร้ายตามวิสัยของมัน มันเที่ยวไล่กัดชาวเมืองจนชาวเมืองเดือดร้อนไปทั่ว ท้าวอภัยนุราชทรงขัดเคือง จึงขับไล่นางจำปาทองออกจากเมืองเวสาลี "นางแมว" ซึ่งเป็นแมวที่นางจำปาทองเลี้ยงไว้ได้ติดตามนางไปด้วย นางจำปาทองกับนางแมวเดินซัดเซพเนจรอยู่ในป่า ไปพบยักษ์ตนหนึ่งชื่อ "นนทยักษ์" ซึ่งกำลังจะไปเฝ้า "ท้าวสิงหล" นางตกใจกลัวจึงวิ่งหนีไปพบ "พระฤๅษี" พระฤๅษีช่วยนางไว้ นางจำปาทองกับนางแมวจึงขออาศัยอยู่รับใช้พระฤๅษีในป่านั้น
ท้าวสิงหลเป็นยักษ์ครองเมืองสิงหล ไม่มีพระโอรสและพระธิดา คืนหนึ่งท้าวสิงหลบรรเทาหลับและทรงพระสุบินว่า มียักษ์ตนหนึ่งมาจากป่านำดอกจำปามาถวาย ดอกจำปามีสีเหลืองเหมือนทองคำงามยิ่งนัก ท้าวสิงหลจึงทรงให้โหรทำนายพระสุบิน โหรทำนายว่าท้าวสิงหลจะได้พระธิดา วันนั้นนนทยักษ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหลและทูลว่าพบหญิงสาวอาศัยอยู่กับพระฤๅษีที่ในป่า ท้าวสิงหลจึงเสด็จไปหาพระฤๅษี และขอนางจำปาทองมาเป็นธิดา ประทานนามว่า "นางสุวิญชา"
ฝ่าย "พระไชยเชษฐ์" เป็นโอรสเจ้าเมืองเหมันต์ พระไชยเชษฐ์มีพระสนมอยู่ 7 คน วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสป่า และหลงทางเข้าไปในสวนเมืองสิงหล นางสุวิญชามาเที่ยวชมสวนพบพระไชยเชษฐ์ จึงนำความทูลให้ท้าวสิงหลทราบ ท้าวสิงหลให้พระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้า พระไชยเชษฐ์จึงทูลขอรับราชการในเมืองสิงหล ต่อมามีข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสิงหล พระไชยเชษฐ์อาสาสู้ศึกจนชนะ ท้าวสิงหลจึงทรงยกนางสุวิญชาให้เป็นชายาพระไชยเชษฐ์ พระไชยเชษฐ์จึงพานางสุวิญชากลับเมืองเหมันต์
ฝ่ายนางสนมทั้ง 7 คนริษยานางสุวิญชาที่พระไชยเชษฐ์รักนางสุวิญชามากกว่า ครั้นนางสุวิญชาทรงครรภ์จวนจะถึงกำหนดคลอดนางสนมทั้ง 7 คน ก็ออกอุบายว่ามีช้างเผือกอยู่ในป่า พระไชยเชษฐ์จึงออกไปคล้องช้างเผือก ฝ่ายนางสุวิญชาคลอดลูกเป็นกุมารมีศรกับพระขรรค์ติดตัวมาด้วย นางสนมทั้ง 7 คน นำพระกุมารใส่หีบไปฝังที่ใต้ต้นไทรในป่า เทวดาประจำต้นไม้ช่วยชีวิตพระกุมารไว้ เมื่อพระไชยเชษฐ์เสด็จกลับจากคล้องช้างเผือก นางสนมทั้ง 7 คน ทูลว่านางสุวิญชาคลอดลูกเป็นท่อนไม้ พระไชยเชษฐ์จึงขับไล่นางสุวิญชาออกจากเมือง ขณะที่นางสุวิญชาคลอดกุมารนั้น นางแมวแอบเห็นการกระทำของนางสนมทั้ง 7 คน จึงพานางสุวิญชาไปขุดหีบที่ใต้ต้นไทร แล้วพาพระกุมารกลับไปเมืองสิงหล ท้าวสิงหลตั้งชื่อพระกุมารว่า "พระนารายณ์ธิเบศร์"
ต่อมาพระไชยเชษฐ์ทรงรู้ความจริงว่านางสุวิญชาถูกใส่ร้าย จึงออกติดตามนางสุวิญชาไปเมืองสิงหลและได้พบพระนารายณ์ธิเบศร์ ซึ่งกำลังประพาศป่ากับพระพี่เลี้ยง พระไชยเชษฐ์เห็นพระนารายณ์ธิเบศร์เป็นเด็กน่ารัก มีหน้าตาคล้ายพระองค์ก็มั่นใจว่าเป็นพระโอรส จึงเข้าไปขออุ้มและเอาขนมนมเนยให้ พระนารายณ์ธิเบศร์โกรธว่าเป็นคนแปลกหน้า จึงไม่ให้จับต้องและไม่ยอมเสวยขนม
พระนารายณ์ธิเบศร์โกรธพระไชยเชษฐ์ที่มาจับต้องตัวและจับหัวของพระพี่เลี้ยงของตนจึงใช้ศรธนูหมายจะฆ่าให้ตาย แต่ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้กระจายเติมพื้นดิน จึงทำให้พระไชยเชษฐ์เกิดความประหลาดใจยิ่งนัก จึงอธิษฐานจิตว่าถ้ากุมารองค์นี้เป็นลูกของตนที่เกิดกับนางสุวิญชาขอให้ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลายเป็นอาหาร ทันใดนั้นพระไชยเชษฐ์ก็แผลงศรออกไปและศรธนูที่ยิงออกไปนั้นก็กลายเป็นอาหารมากมายเต็มพื้น จึงทำให้พระไชยเชษฐ์มั่นใจเป็นแน่แท้ว่าเป็นบุตรของตนจริงจัง
พระไชยเชษฐ์ทรงไต่ถามพระนารายณ์ธิเบศร์เกี่ยวกับมารดา เพราะทรงจำแหวนที่พระนารายณ์ธิเบศร์สวมได้ พระนารายณ์ธิเบศร์บอกว่านางสุวิญชาเป็นแม่และท้าวสิงหลเป็นพ่อ พระไชยเชษฐ์จึงทรงเล่าเรื่องเดิมให้พระนารายณ์ธิเบศร์ฟัง ทั้ง 2 จึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน พระนารายณ์ธิเบศร์พาพระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหล พระไชยเชษฐ์ขอโทษนางสุวิญชา พระนารายณ์ธิเบศร์ช่วยทูลนางสุวิญชาให้หายโกรธพ่อ นางสุวิญชายกโทษให้ พระไชยเชษฐ์ นางสุวิญชาและพระนารายณ์ธิเบศร์ 3 คนพ่อแม่ลูกจึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

จันทโครพ

จันทโครพ


จันทโครพ เป็นตัวเอกในนิทานเรื่องจันโครพ มีฐานะเป็นเจ้าชาย ถูกโจรป่าทำร้ายระหว่างการเดินทางกลับเมือง เหตุเพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งของอาจารย์
เจ้าชายจันทโครพแห่งเมืองพาราณสี เมื่อเขาเติบโตเป็นหนุ่ม ได้ออกแสวงหาอาจารย์เพื่อรำเรียนวิชา แล้วได้เจอกับพระฤๅษี ได้ร่ำเรียนวิชาจากท่านจนสำเร็จ จากนั้น จึงได้เดินทางกลับบ้านเมืองของตน แต่ก่อนที่จะออกเดินทางฤๅษีได้มอบผอบแก้วให้แล้วสั่งกำชับว่าห้ามเปิดจนกว่าจะถึงบ้านเมือง แต่จันทโครพได้เสียสัตย์แอบเปิดผอบนั้นเสียก่อน ซึ่งในผอบมีนางโมราได้ปรากฏตัวออกมา จันทโครพก็ได้พานางโมราเดินทางต่อไปแต่ ระหว่างทางได้พบกับโจรป่า ซึ่งเห็นนางโมราเข้าจึงคิดแย่งชิง จันทโครพก็ถูกโจรป่าฆ่าตาย (นางโมราเห็นจันทโครพตาย ก็ย่อมไม่ได้ตำแหน่งอัครมเหสีจึงไปอยู่กับโจรป่า เพราะจันทโครพสัญญาว่าจะมอบตำแหน่งอัครมเหสีให้) แต่จันทโครพยังไม่ถึงความตายพระอินทร์จึงมาชุบชีวิตให้จันทโครพ แล้วบอกว่าเนื้อคู่ที่แท้จริงอยู่ทางทิศเหนือ แล้วพระอินทร์ก็สาปนางโมราให้เป็นชะนี (โจรป่าคิดว่าวันหนึ่งถ้านางโมราได้เจอคนอื่นที่ดีกว่าตน จะต้องทิ้งตนไปแน่ เพราะขนาดจันทโครพผู้ที่เป็นถึงองค์ชายนางยังทิ้งได้ ดังนั้นโจรป่าจึงหนีไป นางโมราจึงออกตามหาโจรป่า) จันทโครพได้เดินทางไปทางที่พระอินทร์บอก ก็พบถ้ำหนึ่งที่มียักษ์คอยเฝ้าอยู่จันทโครพจึงคิดว่าในถ้ำนั้นมีเนื้อคู่ของตนอยู่จึงฆ่ายักษ์ตนนั้น แล้วเดินเข้าไปก็พบผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนางมุจลินทร์จึงอยู่กินกัน แล้วจันทโครพคิดถึงพ่อแม่จึงพานางมุจลินทร์หนี (ตอนนั้นนางมุจลินทร์ท้องอ่อนๆด้วย) แล้วเดินไปสักพักก็เหนี่อยแล้วเผลอหลับไปทั้งคู่ นางยักษ์จึงนำตัวนางมุจลินทร์ไปฟาดกับต้นไม้แล้วเหวี่ยงไปสุดแรง จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นนางมุจลินทร์ไปนอนข้างจันทโครพ เมื่อจันโครพเดินทางมาถึงเมืองก็ขอนอนพักผ่อน แล้วพอตอนกลางคืนนางยักษ์ก็ไปกินวัวของชาวบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าเจ้าของวัวดูอยู่เจ้าของวัวจึงไปบอกพระราชา (พ่อของจันทโครพ) (นางยักษ์ได้นำเสื้อผ้าที่เลอะเลือดไปซ่อนไว้) แต่ตอนนั้นดึกมากแล้วจึงพูดกันพรุ่งนี้เช้า เมื่อเช้าแล้วจันทโครพได้ปลุกนางมุจลินทร์ปลอม โดยไม่บอกเรื่องคดีแปลกประหลาด แต่นางยักษ์ไม่ได้นอนมาทั้งคืนเลยแสร้งบอกว่าไม่สบาย จันทโครพออกมาเข้าเฝ้าคนเดียว แล้วพระโหราธิบดีก็ตรวจดูดวงให้จันทโครพแล้วบอกว่าพรุ่งนี้ให้จันทโครพพานางมุจลินทร์มาด้วย พอวันรุ่งขึ้นพระโหราธิบดีถามนางมุจลินทร์เกี่ยวกับเวลาที่เกิด แต่นางยักษ์ไม่รู้จึงบอกวันผิดๆไปพระโหราจึงบอกว่า บัดนี้ความจริงเปิดเผยแล้วเจ้าไม่ใช่คนแต่เจ้าเป็นนางยักษ์ นางยักษ์หน้าถอดสี จันทโครพจึงฆ่านางยักษ์ตายแล้วออกตามหานางมุจลินทร์จนพบ และตอนนั้นนางมุจลินทร์ได้คลอดบุตรชายชื่อจันทวงศ์ทั้งสามจึงอยู่กันอย่างมีความสุข

เงาะป่า

เงาะป่า



บทละครเรื่องเงาะป่านี้ แม้จะมีรูปแบบของกลอนบทละคร แม้ก็มิได้มีพระประสงค์เพื่อใช้เล่นละครแต่อย่างใด หากแต่ทรงแต่งขึ้นเพื่อเป็นที่ผ่อนคลายและสำราญพระทัย ทรงแต่งแล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) (หากนับตามปัจจุบัน เป็น พ.ศ. 2449 แล้ว) แล้วได้แก้ไขอีกบ้างเล็กน้อยเมื่อทรงมีเวลา และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ในปีเดียวกัน แล้วโปรดฯ ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2456
ทั้งนี้ได้ทรงบันทึกเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ท้ายเรื่องดังนี้
พระนิพนธ์เงาะป่าว่าตามเค้า
คนังเล่าแต่งต่อล้อมันเล่น
ใช้ภาษาเงาะป่าว่ายากเย็น
แต่พอเห็นเงื่อนเงาเข้าใจกัน
ทำแปดวันครั้นมาถึงวันศุกร์
สิ้นสนุกไม่มีที่ข้อขัน
วันที่สองของเดือนกุมภาพันธ์
ศกร้อยยี่สิบสี่มั่นจบหมดเอย

ลักษณะคำประพันธ์และภาษา

บทละครเรื่องเงาะป่านี้แต่งด้วยกลอนบทละคร ตลอดทั้งเรื่อง มีการบอกเพลงกำกับไว้ด้วย ทรงใช้ภาษาอย่างเรียบง่ายแต่มีความไพเราะ ไม่มีศัพท์สูงๆ ที่เข้าใจยากอย่างวรรณคดีทั่วไป ทว่าได้ทรงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาก็อย (ซาไก) ไว้โดยตลอด อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงเนื้อเรื่อง มีบัญชีศัพท์ภาษาก็อยใส่ไว้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถพลิกมาเปิดหาความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นได้โดยสะดวก แต่แม้ผู้อ่านจะไม่ได้ย้อนกลับมาเปิดศัพท์ ก็คงอ่านได้รู้เรื่องโดยไม่ยาก เพราะมักทรงใช้คำศัพท์ภาษาก็อยควบคู่กับภาษาไทย ทำให้สามารถเดาความหมายภาษาก็อยได้
คำศัพท์ภาษาก็อยนี้ เดิมนั้นพระราชสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเก็บมาจากเงาะป่าคนหนึ่ง ชื่อคนัง ที่ทรงนำไปเลี้ยง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า "ส่วนศัพท์ภาษาก็อยไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ไล่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมา เพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่ามันเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนกหนูต้นหมากรากไม้ เพราะมันยังเป็นเด็ก บางทีผู้อ่านจะเหนื่อยหน่าย ด้วยคำที่ไม่เข้าใจมีมาก จึงได้จดคำแปลศัพท์ติดไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย"

เนื้อหา

เป็นนิยายรักสามเศร้า เรื่องราวของหนึ่งหญิงสองชายชาวป่า ตอนเริ่มต้นกล่าวว่าได้เค้าเรื่องจากคำบอกเล่าของ ยายลมุด หญิงเฒ่าชาวเงาะ เมืองพัทลุง แล้วดำเนินเรื่องว่า คนัง เงาะชาวพัทลุงกำพร้าพ่อแม่ อยู่กับพี่ชายชื่อ แค วันหนึ่งคนังชวนเพื่อนชื่อ ไม่ไผ่ ไปเที่ยวป่าพบ ซมพลา เงาะหนุ่ม ล่ำสันแข็งแรง เก่งในทางใช้ลูกดอก ซมพลาหลงรัก ลำหับ พี่สาวไม่ไผ่ ลำหับ เป็นคู่หมั้นของ ฮเนาซมพลาได้พบไม้ไผ่ก็ดีใจ สอนวิธีเป่าลูกดอกให้ไม้ไผ่และคนัง ซมพลาเผยความในใจที่มีต่อลำหับให้ไม้ไผ่ฟัง ไม้ไผ่เต็มใจช่วย ออกอุบายให้ซมพลาได้พบกับลำหับ ลำหับยินดีรับรักซมพลา พอถึงวันแต่งงานของฮเนากับลำหับ ไม้ไผ่กับคนังได้ช่วยซมพลาพาลำหับหนี ฮเนากับรำแก้ว พี่ชายออกติดตาม ซมพลานำลำหับไปซ่อนไว้ในถ้ำแล้วออกไปหาอาหาร พบฮเนาเข้าเกิดต่อสู้กัน รำแก้วเข้าช่วยน้องชาย ใช้ลูกดอกเป่าถูกซมพลา ลำหับเห็นซมพลาหายไป จึงออกตามหา พบซมพลาขาดใจตายไปต่อหน้าต่อตา ก็เสียใจฆ่าตัวตายตาม ฮเนาได้เห็นความรักอันเด็ดเดี่ยวของซมพลากับลำหับ รู้ตัวว่าเป็นเหตุให้ทั้งสองต้องเสียชีวิต จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายตามไปด้วย
เรื่องจบลงตอนเมืองสงขลาสั่งให้กรมการเมืองพัทลุงหาเงาะหน้าตาดีๆ ส่งไปถวาย กรมการเมืองพัทลุงได้คนังมา จัดให้มีการรับขวัญและมีการฉลองต้อนรับคนัง

บางตอนจาก บทละครเรื่องเงาะป่า

กระทรวงศึกษาธิการเคยคัดมาไว้ในแบบเรียนภาษาไทยให้นักเรียนได้เรียนด้วย ดังนี้
 โอ๊ะเฮเฮเห่เฮเฮเห่เฮเฮเฮ้เห่
 ช้าหน่อยแม่นางก็อยเอยอย่าทำใจน้อยหน้าตาบูดบึ้ง
ยิ้มเสียให้แฉ่งอย่าแสร้งมึนตึงช้าหน่อยแม่นางก็อยเอย ฯ
 ช้านิดแม่ชื่นจิตรเอยอย่าใส่จริตกระดุ้งกระดิ้ง
ดอกไม้หอมกรุ่นฉุนฤๅจะทิ้งช้านิดแม่ชื่นจิตรเอย ฯ
ช้าอืดแม่นางอืดเอยตามกันเปนยืดยักไหล่ฟ้อนรำ
อย่าให้ช้านักจักเสียลำนำช้าอืดแม่นางอืดเอย ฯ
ช้าไว้แม่ชื่นใจเอยรวังอกไหล่อย่าให้ปะทะ
จะเกิดรำคาญขี้คร้านเอะอะช้าไว้แม่ชื่นใจเอย
อย่าแค้นแม่แสนงอนเอยเวียนแต่ควักค้อนผูกคิ้วนิ่วหน้า
ผัดอีกหน่อยหนึ่งให้ถึงเวลาอย่าแค้นแม่สอนงอนเอย
ชะต้าแม่ตาคมเอยอย่าทำเก้อก้มเมียงเมินเขินขวย
เหลือบมาสักนิดขอพิศตาสวยชะต้าแม่ตาคมเอย
หน่อยแน่แม่กินรเอยรำร่ายฟายฟ้อนให้ต้องจังหวะ
อย่าทำตัวเตี้ยเห็นจะเสียระยะหนอยแน่แม่กินรเอย
ถึงแล้วแม่แก้วตาเอย
นอกจากนี้เหม เวชกร ยังได้นำพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่ามาเขียนเป็นนิทานภาพ ความยาว 140 ภาพ เอาไว้ และในชั้นหลัง ยังมีภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เงาะป่า" ที่เขียนบทขึ้นตามพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย
บทละครเรื่องนี้ นอกจากจะใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครได้ดีแล้วยังมีคุณค่าทางวรรณคดีและวัฒนธรรมของพวกเงาะ ในทางวรรณคดีประกอบด้วย บทชมธรรมชาติ บทรัก บทแค้น บทโศก บทขบขัน และคติธรรม การใช้ถ้อยคำสำนวนง่ายๆ สละสลวย มีรสสัมผัส เป็นภาพพจน์และมีอุปมาอุปไมยแยบคายมากมาย ในทางวัฒนธรรมนับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของพวกเงาะ เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้แง่คิดในเรื่องต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของสิ่งธรรมดาในโลก ความรักพิสูจน์ได้ด้วยการเสียสละ อาฆาตพยาบาทเป็นสิ่งไม่ควรประพฤติ เป็นต้น

ไกรทอง


ไกรทอง





          ชาละวันเป็นจระเข้เจ้า อาศัยอยู่ในถ้ำทองใต้บาดาล ในถ้ำทองจระเข้ จะกลายร่างเป็นคนได้ ชาละวันตอนกลายร่างเป็นคนจะเป็นหนุ่มรูปงาม โดยชาละวันเองมีเมียสาวสวยเป็นนางจระเข้ 2 ตัวคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ ชาละวันเป็นหลานชายของ ท้าวรำไพ ผู้เป็นจระเข้เจ้าที่อยู่ในศีลธรรม ไม่เคยจับสัตว์หรือมนุษย์กินเป็นอาหารและจะกินแต่ซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหารเท่านั้น ชาละวันแม้อยู่ในถ้ำทองจะอิ่มทิพย์ไม่ต้องกินเนื้อ แต่ด้วยความมีนิสัยที่เป็นอันธพาล จึงชอบมาเมืองบนตามแม่น้ำลำคลอง จับคนที่เป็นชาวบ้านและสัตว์กินเพื่อความสนุกสนาน

          ณ หมู่บ้านดงเศรษฐี แขวงเมืองพิจิตร มีพี่น้องฝาแฝดคู่หนึ่ง มีความงามเป็นที่เลื่องลือ ชื่อนางตะเภาแก้ว ผู้พี่ และนางตะเภาทองผู้น้อง ทั้งสองเป็นบุตรเศรษฐีคำ และคุณนายทองมา วันหนึ่งนางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองได้ลงไปเล่นน้ำที่ท่าหน้าบ้าน ช่วงเวลานั้นเจ้าชาละวัน ซึ่งเป็นจระเข้ได้ออกมาว่ายน้ำหาเหยื่อ เมื่อได้เห็นนางตะเภาทอง ก็ลุ่มหลงในความงาม จึงโผล่ขึ้นเหนือน้ำเข้าไปคาบนางตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทอง อันเป็นที่อยู่ของเจ้าชาละวัน

          เมียของชาละวัน คือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้ เพราะเกรงกลัวจึงต้องยอมให้ผัวมีเมียเป็นมนุษย์อีกคน เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมาเจ้าชาละวันก็เกี้ยวพาราสี แต่นางตะเภาทองก็ไม่สนใจ เจ้าชาละวันจึงจำต้องใช้เวทมนตร์สะกดให้นางตะเภาทองหลงรัก และยอมเป็นภรรยาตั้งแต่นั้นมา

          เศรษฐีคำและคุณนายทองมาโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ที่นางตะเภาทองบุตรสาวคนเล็กถูกเจ้าชาละวันคาบไป และคิดว่าบุตรสาวตนคงตายไปแล้ว ด้วยความรักในบุตรสาวและความแค้นในเจ้าชาละวัน จึงประกาศออกไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้วด้วย



          แต่ก็ไม่มีหมอจระเข้คนไหนสามารถปราบเจ้าชาละวันได้ นอกจากกลายเป็นเหยื่อของเจ้าชาละวันคนแล้วคนเล่า จนในที่สุดก็มีชายหนุ่มรูปงามนามว่า ไกรทอง ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ได้อาสามาปราบเจ้าชาละวัน แต่อาจารย์คงรู้ว่าเจ้าชาละวันเป็นพญาจระเข้มีอำนาจมาก และหนังเหนี่ยว ฆ่าฟันไม่ตาย เนื่องจากมีเขี้ยวเพชรทำให้อยู่ยงคงกระพัน จึงได้มอบหอกสัตตโลหะ , เทียนระเบิดน้ำ เสื้อยันต์และลูกประคำปลุกเสก แก่ไกรทอง

          รุ่งเช้าตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมอ่านคาถา ทำให้เจัาชาละวันเกิดร้อนลุ่มต้องออกจาก ถ้ำขึ้นมาต่อสู้กับไกรทอง ไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ และแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกได้ทิ่มแทงเจ้าชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และได้หนีกลับไปที่ถ้ำ แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำตามไปต่อสู้อีกในถ้ำ

          ระหว่างที่เข้าไปในถ้ำไกรทองก็พบกับวิมาลา เมียของชาละวัน ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสี นางวิมาลาจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ และบอกทางไปช่วยนางตะเภาทอง

          ไกรทองตามมาต่อสู้กับเจ้าชาละวันในถ้าต่อจนเจ้าชาละวันตาย และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากจึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน ไกรทองจอมเจ้าชู้ก็รับไว้ ด้วยความยินด

          แต่ยังไม่จบแค่นั้นด้วยความเจ้าชู้ของไกรทองแม้ชาละวันตายไป ไกรทองก็ยังหลงรสรักกับนางวิมาลา จึงไปหาสู่ที่ถ้ำทอง และคิดจะพานางวิมาลาไปอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็มมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองจับได้ว่า สามีไปมาหาสู่นางจระเข้ จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์