วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เงาะป่า

เงาะป่า



บทละครเรื่องเงาะป่านี้ แม้จะมีรูปแบบของกลอนบทละคร แม้ก็มิได้มีพระประสงค์เพื่อใช้เล่นละครแต่อย่างใด หากแต่ทรงแต่งขึ้นเพื่อเป็นที่ผ่อนคลายและสำราญพระทัย ทรงแต่งแล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) (หากนับตามปัจจุบัน เป็น พ.ศ. 2449 แล้ว) แล้วได้แก้ไขอีกบ้างเล็กน้อยเมื่อทรงมีเวลา และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ในปีเดียวกัน แล้วโปรดฯ ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2456
ทั้งนี้ได้ทรงบันทึกเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ท้ายเรื่องดังนี้
พระนิพนธ์เงาะป่าว่าตามเค้า
คนังเล่าแต่งต่อล้อมันเล่น
ใช้ภาษาเงาะป่าว่ายากเย็น
แต่พอเห็นเงื่อนเงาเข้าใจกัน
ทำแปดวันครั้นมาถึงวันศุกร์
สิ้นสนุกไม่มีที่ข้อขัน
วันที่สองของเดือนกุมภาพันธ์
ศกร้อยยี่สิบสี่มั่นจบหมดเอย

ลักษณะคำประพันธ์และภาษา

บทละครเรื่องเงาะป่านี้แต่งด้วยกลอนบทละคร ตลอดทั้งเรื่อง มีการบอกเพลงกำกับไว้ด้วย ทรงใช้ภาษาอย่างเรียบง่ายแต่มีความไพเราะ ไม่มีศัพท์สูงๆ ที่เข้าใจยากอย่างวรรณคดีทั่วไป ทว่าได้ทรงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาก็อย (ซาไก) ไว้โดยตลอด อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงเนื้อเรื่อง มีบัญชีศัพท์ภาษาก็อยใส่ไว้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถพลิกมาเปิดหาความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นได้โดยสะดวก แต่แม้ผู้อ่านจะไม่ได้ย้อนกลับมาเปิดศัพท์ ก็คงอ่านได้รู้เรื่องโดยไม่ยาก เพราะมักทรงใช้คำศัพท์ภาษาก็อยควบคู่กับภาษาไทย ทำให้สามารถเดาความหมายภาษาก็อยได้
คำศัพท์ภาษาก็อยนี้ เดิมนั้นพระราชสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเก็บมาจากเงาะป่าคนหนึ่ง ชื่อคนัง ที่ทรงนำไปเลี้ยง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า "ส่วนศัพท์ภาษาก็อยไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ไล่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมา เพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่ามันเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนกหนูต้นหมากรากไม้ เพราะมันยังเป็นเด็ก บางทีผู้อ่านจะเหนื่อยหน่าย ด้วยคำที่ไม่เข้าใจมีมาก จึงได้จดคำแปลศัพท์ติดไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย"

เนื้อหา

เป็นนิยายรักสามเศร้า เรื่องราวของหนึ่งหญิงสองชายชาวป่า ตอนเริ่มต้นกล่าวว่าได้เค้าเรื่องจากคำบอกเล่าของ ยายลมุด หญิงเฒ่าชาวเงาะ เมืองพัทลุง แล้วดำเนินเรื่องว่า คนัง เงาะชาวพัทลุงกำพร้าพ่อแม่ อยู่กับพี่ชายชื่อ แค วันหนึ่งคนังชวนเพื่อนชื่อ ไม่ไผ่ ไปเที่ยวป่าพบ ซมพลา เงาะหนุ่ม ล่ำสันแข็งแรง เก่งในทางใช้ลูกดอก ซมพลาหลงรัก ลำหับ พี่สาวไม่ไผ่ ลำหับ เป็นคู่หมั้นของ ฮเนาซมพลาได้พบไม้ไผ่ก็ดีใจ สอนวิธีเป่าลูกดอกให้ไม้ไผ่และคนัง ซมพลาเผยความในใจที่มีต่อลำหับให้ไม้ไผ่ฟัง ไม้ไผ่เต็มใจช่วย ออกอุบายให้ซมพลาได้พบกับลำหับ ลำหับยินดีรับรักซมพลา พอถึงวันแต่งงานของฮเนากับลำหับ ไม้ไผ่กับคนังได้ช่วยซมพลาพาลำหับหนี ฮเนากับรำแก้ว พี่ชายออกติดตาม ซมพลานำลำหับไปซ่อนไว้ในถ้ำแล้วออกไปหาอาหาร พบฮเนาเข้าเกิดต่อสู้กัน รำแก้วเข้าช่วยน้องชาย ใช้ลูกดอกเป่าถูกซมพลา ลำหับเห็นซมพลาหายไป จึงออกตามหา พบซมพลาขาดใจตายไปต่อหน้าต่อตา ก็เสียใจฆ่าตัวตายตาม ฮเนาได้เห็นความรักอันเด็ดเดี่ยวของซมพลากับลำหับ รู้ตัวว่าเป็นเหตุให้ทั้งสองต้องเสียชีวิต จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายตามไปด้วย
เรื่องจบลงตอนเมืองสงขลาสั่งให้กรมการเมืองพัทลุงหาเงาะหน้าตาดีๆ ส่งไปถวาย กรมการเมืองพัทลุงได้คนังมา จัดให้มีการรับขวัญและมีการฉลองต้อนรับคนัง

บางตอนจาก บทละครเรื่องเงาะป่า

กระทรวงศึกษาธิการเคยคัดมาไว้ในแบบเรียนภาษาไทยให้นักเรียนได้เรียนด้วย ดังนี้
 โอ๊ะเฮเฮเห่เฮเฮเห่เฮเฮเฮ้เห่
 ช้าหน่อยแม่นางก็อยเอยอย่าทำใจน้อยหน้าตาบูดบึ้ง
ยิ้มเสียให้แฉ่งอย่าแสร้งมึนตึงช้าหน่อยแม่นางก็อยเอย ฯ
 ช้านิดแม่ชื่นจิตรเอยอย่าใส่จริตกระดุ้งกระดิ้ง
ดอกไม้หอมกรุ่นฉุนฤๅจะทิ้งช้านิดแม่ชื่นจิตรเอย ฯ
ช้าอืดแม่นางอืดเอยตามกันเปนยืดยักไหล่ฟ้อนรำ
อย่าให้ช้านักจักเสียลำนำช้าอืดแม่นางอืดเอย ฯ
ช้าไว้แม่ชื่นใจเอยรวังอกไหล่อย่าให้ปะทะ
จะเกิดรำคาญขี้คร้านเอะอะช้าไว้แม่ชื่นใจเอย
อย่าแค้นแม่แสนงอนเอยเวียนแต่ควักค้อนผูกคิ้วนิ่วหน้า
ผัดอีกหน่อยหนึ่งให้ถึงเวลาอย่าแค้นแม่สอนงอนเอย
ชะต้าแม่ตาคมเอยอย่าทำเก้อก้มเมียงเมินเขินขวย
เหลือบมาสักนิดขอพิศตาสวยชะต้าแม่ตาคมเอย
หน่อยแน่แม่กินรเอยรำร่ายฟายฟ้อนให้ต้องจังหวะ
อย่าทำตัวเตี้ยเห็นจะเสียระยะหนอยแน่แม่กินรเอย
ถึงแล้วแม่แก้วตาเอย
นอกจากนี้เหม เวชกร ยังได้นำพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่ามาเขียนเป็นนิทานภาพ ความยาว 140 ภาพ เอาไว้ และในชั้นหลัง ยังมีภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เงาะป่า" ที่เขียนบทขึ้นตามพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย
บทละครเรื่องนี้ นอกจากจะใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครได้ดีแล้วยังมีคุณค่าทางวรรณคดีและวัฒนธรรมของพวกเงาะ ในทางวรรณคดีประกอบด้วย บทชมธรรมชาติ บทรัก บทแค้น บทโศก บทขบขัน และคติธรรม การใช้ถ้อยคำสำนวนง่ายๆ สละสลวย มีรสสัมผัส เป็นภาพพจน์และมีอุปมาอุปไมยแยบคายมากมาย ในทางวัฒนธรรมนับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของพวกเงาะ เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้แง่คิดในเรื่องต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของสิ่งธรรมดาในโลก ความรักพิสูจน์ได้ด้วยการเสียสละ อาฆาตพยาบาทเป็นสิ่งไม่ควรประพฤติ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น